Old Fashioned Cocktail

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

การงานอาชีพ


สารบัญ
บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

การงานอาชีพและเทคโนโลยีเป็นวิชาที่ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถนำความรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิต การอาชีพ และเทคโนโลยี มาใช้ประโยชน์ในการทำ งานอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ แข่งขันในสังคมไทยและสากล เห็นแนวทางในการประกอบอาชีพ รักการทำงาน และมีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างพอเพียง มีความสุข

การงานอาชีพและเทคโนโลยีสำคัญอย่างไร?

ขณะนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นฝ่ายบริโภคเทคโนโลยี ไม่ใช่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี ฉะนั้นเราจึงเป็นผู้รับที่ต้องคอยรอผู้ ผลิต ต้องตามฟัง ตามดูว่า ผู้ผลิตจะผลิตอะไรใหม่ๆขึ้นมา เพื่อจะรับเอา จึงเป็นผู้ถูกกำหนด ทั้งหมดนี้ก็เพราะเราเป็นผู้ บริโภคของที่ผู้อื่นผลิตและเราผลิตเองไม่ได้
การเสพบริโภค คือ กินนอนสบาย ใช้ของสำเร็จ ไม่ต้องทำอะไร คนที่ชอบความสุขจากการเสพบริโภคก็คือ คนที่อยากได้รับการบำรุงบำเรอโดยตัวเองไม่ต้องทำอะไร ส่วนคนที่เป็นนักผลิต จะมีจิตใจเข็มแข็ง ชอบทำ และมีความสุขจากการกระทำ จากการสร้างสรรค์ ดังนั้น หากถามเด็กไทยว่า “เรามีนิสัยรักการผลิตหรือไม่ มีความเข้มแข็งทางปัญญา คือ ความใฝ่รู้ ถ้าอยากจะรู้อะไร ก็หาความรู้ในเรื่องนั้นอย่างอุทิศชีวิตให้เลย เด็กไทยของเรามีนิสัยอย่างนี้หรือไม่” สาระของการศึกษาการงานอาชีพและเทคโนโลยี จึงมิใช่แค่การรู้จักทำและรู้จักใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ แต่อยู่ที่การพัฒนาความใฝ่สร้างสรรค์ พร้อมทั้งความคิดสร้างสรรค์และฝีมือสร้างสรรค์ กล่าวคือ ความใฝ่ปรารถนาที่จะแก้ปัญหาและทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมอย่างแรงกล้า ที่ทำให้หาทางและเพียรพยายามนำเอาความรู้ที่ดีที่สุด มาจัดสรรประดิษฐ์นวัตกรรม ที่จะบัน ดาลผลให้สำเร็จประโยชน์สุขนั้น

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดเนื้อหาสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีไว้อย่างไร?

การเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีมุ่งพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการทำงาน เห็นแนวทางในการประกอบอาชีพและการศึกษาต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
  • การดำรงชีวิตและครอบครัว เป็นสาระเกี่ยวกับการทำงานในชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ในสภาพเศรษฐกิจที่พอเพียง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เน้นการปฏิบัติจริง จนเกิดความมั่นใจและภูมิใจในผลสำเร็จของงาน เพื่อให้ค้นพบความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตนเอง
  • การออกแบบและเทคโนโลยี เป็นสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาความสามารถของมนุษย์อย่างสร้างสรรค์ โดยนำความรู้มาใช้กับกระบวนการเทคโนโลยี สร้างสิ่งของ เครื่องใช้ วิธีการ หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการดำรงชีวิต
  • เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นสาระเกี่ยวกับกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ การติดต่อสื่อสาร การค้น หาข้อมูล การใช้ข้อมูลและสารสนเทศ การแก้ปัญหาหรือการสร้างงาน คุณค่าและผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • การอาชีพ เป็นสาระที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพ เห็นความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดีต่ออาชีพ ใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม เห็นคุณค่าของอาชีพสุจริต และเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพ

เด็กจะได้รับประโยชน์อะไรจากการงานอาชีพและเทคโนโลยี?

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดคุณภาพผู้เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไว้ ดังนี้
  • เข้าใจวิธีการทำงาน เพื่อช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว และส่วนรวม ใช้วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือถูกต้องตรงกับลักษณะงาน มีทักษะกระบวนการทำงาน มีลักษณะนิสัยการทำงานที่กระตือรือร้น ตรงเวลา ประหยัด ปลอดภัย สะอาด รอบ คอบ และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  • เข้าใจประโยชน์ของสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน มีความคิดในการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการสร้างของเล่น-ของใช้อย่างง่าย โดยใช้กระบวนการเทคโนโลยี ได้แก่ กำหนดปัญหาหรือความต้องการ รวบรวมข้อมูล ออกแบบโดยถ่ายทอดความคิดเป็นภาพร่าง 2 มิติ ลงมือสร้างและประเมินผล เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างถูกวิธี เลือกใช้สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสร้างสรรค์ และมีการจัดการสิ่งของเครื่องใช้ด้วยการนำกลับมาใช้ซ้ำ
  • เข้าใจและมีทักษะการค้นหาข้อมูลอย่างมีขั้นตอน การนำเสนอข้อมูลในลักษณะต่างๆ และวิธีดูแลรักษาอุปกรณ์เทค โนโลยีสารสนเทศ

ครูสอนการงานอาชีพและเทคโนโลยีให้ลูกอย่างไร?

  • ฝึกฝนทักษะการทำงาน มุ่งเน้นการทำงานในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่ว่าด้วยงานบ้าน งานเกษตร งานช่าง งานประดิษฐ์ งานธุรกิจ และงานอื่นๆ ฝึกวิธีการทำงานด้วยตนเอง ตั้งแต่การวิเคราะห์งาน การวางแผนทำงาน การปฏิบัติงาน และการประเมินผลการทำงาน ทั้งทำงานเป็นรายบุคคลและทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อให้เด็กสามารถทำงานได้บรรลุเป้าหมาย และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ด้วยการรู้จักบทบาทหน้าที่ภายในกลุ่ม มีทักษะในการฟัง-พูด มีคุณธรรมในการทำงานร่วมกัน สามารถสรุปผลและนำเสนอรายงาน ดังตัวอย่างกิจกรรมต่อไปนี้
    • การทำงานเพื่อช่วยเหลือตนเอง มุ่งเน้นการฝึกทำงานอย่างสม่ำเสมอ ทำงานให้เกิดผลอย่างเป็นขั้นตอนตามกระบวน การทำงาน ด้วยความสะอาด รอบคอบ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน และเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของงาน เริ่มจากการแต่งกาย การเก็บของใช้ การหยิบจับและใช้ของใช้ส่วนตัว การจัด เตรียมอุปกรณ์การเรียน การทำความสะอาดรองเท้า กระเป๋านักเรียน การทำความสะอาดห้องเรียน การจัดโต๊ะ ตู้ ชั้นในห้อง เรียน
    • การทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เน้นบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบงานบ้านของสมาชิกในบ้าน การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสร้างลักษณะนิสัยที่ดีในการทำงาน มีความกระตือรือร้น ตรงเวลา สามารถจัดสรรเวลาต่างๆให้สมดุลได้ ได้แก่ การจัด วาง เก็บเสื้อผ้า/รองเท้า การเลือกใช้เสื้อผ้า การช่วยครอบครัวเตรียม ประกอบอาหาร การล้างจาน การปัดกวาด เช็ดถูบ้านเรือน เป็นต้น
  • เสร้างนิสัยการเป็นผู้ผลิต ผู้สร้างสรรค์ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้แสวงหาข้อมูลความรู้ต่างๆ ด้วยการศึกษาค้นคว้า การรวบ รวม การสังเกต การสำรวจ และการบันทึก จัดลำดับความคิดหรือจินตนาการอย่างเป็นขั้นตอน นำไปสู่การวางแผน เกิดความคิด หาวิธีการแก้ปัญหา รู้จักสังเกต วิเคราะห์ สร้างทางเลือก และประเมินทางเลือก เพื่ออธิบายและสื่อสารให้ผู้อื่นเข้า ใจ เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถของผู้เรียนในการแก้ปัญหาและสนองความต้องการอย่างสร้างสรรค์ โดยนำความ รู้มาใช้กับกระบวนการเทคโนโลยี สร้างสิ่งของเครื่องใช้ วิธีการ หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการดำรงชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ดังตัวอย่างกิจกรรมต่อไปนี้
    • การศึกษาสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ถูกสร้างมาให้มีรูปร่างแตกต่างกัน ตามหน้าที่ใช้สอย และฝึกฝนการใช้ให้ถูกวิธี ปลอดภัยต่อการทำงาน จนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว และถูกต้อง เช่น แปรงสีฟัน หม้อหุงข้าว กรร ไกร ปากกา ดินสอ ฯลฯ
    • การสร้างของเล่นหรือของใช้อย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่กำหนดปัญหาหรือความต้องการ รวบรวมข้อมูล ออกแบบ ถ่ายทอดความคิดเป็นภาพร่าง ๒ มิติ ๓ มิติ ก่อนลงมือสร้างและประเมินผล รวมถึงการนำสิ่งของกลับมาใช้ซ้ำ ลดการใช้ทรัพยากรหรือเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างเอกสารเพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น บัตรอวยพร รายงาน นิทานประกอบภาพ เป็นต้น
    • นำเสนอข้อมูลหลากหลายวิธี หลากหลายลักษณะ เช่น นำเสนอหน้าชั้นเรียน จัดทำเอกสาร รายงาน ป้ายประกาศ สื่อคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
  • จัดประสบการณ์ในอาชีพต่างๆ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ได้เห็น ได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมที่เกี่ยวกับอาชีพที่ตนเองถนัดและสน ใจ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะการทำงานอาชีพ เห็นคุณค่าของงานอาชีพสุจริต และเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพ เช่น การจัดนิทรรศการ บทบาทสมมติ ฯลฯ อันจะนำไปสู่การรู้จักตนเองด้านความรู้ ความสามารถ ทัศนคติ ศักยภาพ วิสัยทัศน์ แนว โน้มด้านอาชีพที่ต้องการของตลาดแรงงาน ที่เหมาะสมกับความสนใจ ความถนัด และทักษะทางด้านอาชีพก่อนตัดสินใจเลือกอาชีพ

พ่อแม่จะช่วยส่งเสริมการงานอาชีพและเทคโนโลยีให้ลูกได้อย่างไร?

เวลานี้ เด็กหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยีมาก การศึกษาตั้งแต่ในบ้านจะต้องมุ่งเน้นที่จะช่วยให้เด็กมีความสุขจากการใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ หรือความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี เด็กควรจะมีความสุขจากการใช้คอมพิว เตอร์สร้างสรรค์งานต่างๆ ไม่ติดอยู่กับการหาความสุขจากการใช้คอมพิวเตอร์เล่นเกม ถ้าเด็กมีความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์แล้ว เด็กจะพ้นจากวิถีทางที่ผิด ซึ่งนี้คือเนื้อแท้สำคัญของการศึกษา เป็นการแก้ปัญหา ทั้งการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศ ทั้งพัฒนาจิตใจและพัฒนาเศรษฐกิจ ความเป็นนักศึกษาและสร้างสรรค์ ทำให้ก้าวพ้นไปได้จากความสุขที่ขึ้นต่อสิ่งเสพ สู่อิสรภาพและความสุขที่สูงขึ้นไป เพราะคุณค่าของเทคโนโลยี มิใช่อยู่การได้มีสิ่งเสพบริโภคอำนวยความสะดวกสบาย แต่เทคโนโลยีมีคุณค่าอยู่ที่การพัฒนาคน คือ เป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุนอำนวยโอกาสให้คนสามารถพัฒนาศักย ภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงาม นำชีวิตและสังคม เข้าถึงความสุขและอิสรภาพที่ลึกและกว้างยิ่งขึ้นไป
การศึกษาแท้ เริ่มที่บ้าน โดยพ่อแม่เป็นครูคนแรก ถ้าจะนำเด็กเข้าสู่การพัฒนาที่ถูกทาง เพื่อให้ได้ผลในการเสริมสร้างความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก ความใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ ความเป็นนักผลิต นักสร้างสรรค์ และพร้อมกันนั้นก็จะได้ผ่อนลดอิทธิพลของค่า นิยมใฝ่เสพ วัฒนธรรมบริโภค ความอ่อนแอ เห็นแก่สะดวกสบาย และวิถีชีวิตที่เปิดกว้างสู่ทางแห่งการเสพยาเสพติด พ่อแม่ทุกบ้านนั่นเองจะต้องเริ่มต้น ถามลูกให้น้อยลงว่า “อยากได้อะไร” แต่ถามลูกให้มากขึ้นว่า “อยากทำอะไร” “อยากรู้ว่าจะทำอย่างไร” และ “จะต้องรู้อะไร” แล้วพ่อแม่ก็คอยหนุนและให้ เพื่อสนองความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์นี้ โดยช่วยโยงการรู้และการสร้างสรรค์นั้นไปเชื่อมต่อกับกุศลให้ได้ต่อไป ด้วยการ ฝึกทำงานในชีวิตประจำวัน อย่างเป็นประจำ สม่ำเสมอ เพื่อช่วย เหลือตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นผู้สร้าง ผู้ผลิตที่เน้นการปฏิบัติจริงจนเกิดความมั่นใจและภูมิ ใจในผลสำเร็จของงาน ค้นพบความสามารถ ความถนัด ความสนใจของตนเอง ขณะเดียวกันได้เสริมสร้างคุณธรรม จริย ธรรม เจตคติ และลักษณะนิสัยในการทำงาน ที่ประกอบด้วยความซื่อสัตย์ เสียสละ ยุติธรรม ประหยัด ขยัน อดทน รับผิด ชอบ ตรงเวลา รอบคอบ ปลอดภัย คุ้มค่า ยั่งยืน สะอาด ประณีต มีเหตุผล มีมารยาท ช่วยเหลือตนเอง ทำงานบรรลุเป้าหมาย ทำงานถูกวิธี ทำงานเป็นขั้นตอน ทำงานเป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ การทำงานที่จำเป็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ งานบ้าน งานเกษตร งานช่าง งานประดิษฐ์ งานธุรกิจ และงานอื่น ๆ

เกร็ดความรู้เพื่อครู

ครูควรปลูกฝังการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง เหมาะสมแก่เด็ก ดังนี้
  • เทคโนโลยีเพื่อคุณค่าแท้ที่เสริมคุณภาพชีวิต เด็กจะต้องรู้จักแยกแยะระหว่างคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม คุณค่าแท้ คือ คุณค่าที่สนองความต้องการให้เกิดคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเครื่องส่งเสริมการเสพคุณค่าเทียม
  • เทคโนโลยีที่เกื้อหนุนระบบความประสานเกื้อกูลแห่งดุลยภาพ เด็กจะต้องรู้จักประมาณ คือ ความพอดี หรือภาวะสม ดุล แล้วดำเนินชีวิตและปฏิบัติการทั้งหลาย โดยคำนึงถึงดุลยภาพแห่งระบบการดำรงอยู่ของสิ่งทั้งหลาย ที่ดำเนินไปด้วยดี ด้วยความเป็นองค์ประกอบและปัจจัยร่วมที่มาประสานเกื้อกูลกันอย่างพอดี เริ่มตั้งแต่ความเป็นอยู่ประจำวัน การรับประ ทานอาหาร ที่พอเหมาะ พอดีแก่ร่างกาย
  • เทคโนโลยีบนฐานของสัมมาทิฐิ คือ การผลิต การพัฒนา และการใช้เทคโนโลยี จะต้องประกอบด้วยปัญญาที่มองเห็นและเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เช่น รู้จักคิดให้เข้าใจถูกต้องในความสุข-ความทุกข์ของมนุษย์ว่าคืออะไร รู้จักและเข้าใจคุณประโยชน์และโทษของเทคโนโลยี เพื่อใช้เทคโนโลยีในทางที่เป็นคุณ มองธรรมชาติในฐานะเป็นองค์ประกอบร่วมในการดำรงอยู่ของตน ซึ่งจะต้องเกื้อกูลต่อกัน โดยคำนึงอยู่เสมอถึงการรักษาสมดุลและการปรับให้เข้าสู่ความประสานกลมกลืนจนเกิดดุลยภาพที่น่าพอใจ
  • เทคโนโลยีของคนที่เป็นไท คน ผู้มี ผู้ใช้เทคโนโลยีจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์เป็นผู้สร้าง เป็นผู้พัฒนา และเป็นผู้ ใช้เทคโนโลยี มนุษย์จะต้องเป็นนายเทคโนโลยี ให้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริมความดีงามความประเสริฐของมนุษย์ มีสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน รู้จักบังคับควบคุมตนเอง เป็นคนเข้มแข็ง มีภูมิต้านทานความทุกข์ และความพร้อมที่จะมีความสุขอยู่เสมอ แม้ไม่มีเทคโนโลยี ฉันก็อยู่ได้ ฉันก็สามารถมีความสุขได้ รู้จักที่จะเป็นอิสระจากเทคโนโลยี วางเทคโน โลยีไว้ในฐานะที่ถูกต้อง ให้เทคโนโลยีเป็นส่วนเสริมขึ้นจากการที่ตนเองสามารถหาความได้อยู่แล้ว ทำงานได้อยู่แล้ว ให้มีโอกาสที่จะมีความสุขได้มากขึ้น ทำงานได้มากขึ้น
  • เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าคู่กันไปกับการพัฒนาคุณภาพของคน โดยฝึกให้เด็กมีคุณภาพทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโล ยีที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อนยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพที่จะสามารถเป็นอยู่อย่างเป็นอิสระ เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะ มีความรับผิดชอบ ละเอียด รอบคอบ ไม่ประมาท นอกจากจะเป็นนายของเทคโนโลยีแล้ว จะต้องเป็นนายที่สามารถใช้และควบคุมเทคโนโลยีให้ทำงานสนองวัตถุประสงค์ในทางสร้างสรรค์ได้อย่างถูกต้องเรียบร้อย เป็นผลดีแท้จริง ให้เทคโนโลยีเป็นมิตรที่เกื้อกูลของมนุษย์
  • เทคโนโลยีที่สนองจุดหมายของอารยชน การพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องเป็นรองและเป็นเครื่องรับใช้การพัฒนาคน ในความหมายที่แท้จริง คือ พัฒนาตัวมนุษย์เองหรือพัฒนาความเป็นมนุษย์ ให้เป็นผู้มีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา รู้ที่จะปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อธรรมชาติที่แวดล้อมตน และต่อสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์เองได้พัฒนาขึ้นมา รวมทั้งเป็นผู้พร้อมที่จะดำเนินการพัฒนาต่างๆ ทุกอย่างเป็นไปในทางที่ไร้โทษ เป็นคุณ เกื้อกูลต่อชีวิต สังคม และธรรมชาติ ทำให้แก้ปัญหาได้ ปลอดพ้นจากปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีส่งเสริมปัญญาที่จะเข้าถึงสัจธรรม เพิ่มพูนคุณธรรม และนำชีวิต สังคม และธรรม ชาติ ให้ดำเนินไปในระบบความสัมพันธ์อันประสานเกื้อกูล ที่ตัวมนุษย์เองจะได้เข้าถึงสุขสันติและอิสรภาพที่แท้จริง

บรรณานุกรม

  1. พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2540). ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี. (พิมพ์ครั้งที่ 4) กรุงเทพมหานคร : บริษัท สหธรรมิก จำกัด.
  2. จพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2549). ตื่นเถิดชาวไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 4) กรุงเทพมหานคร : บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
  3. ศึกษาธิการ,กระทรวง. (2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑. สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น